top of page

ACADEMY & POLITICAL

ISSUE

สถาบันและประเด็นการเมือง

ACADEMY & POLITICAL
ISSUE

                         ก่อนเกิดสงคราม แซงต์มาร์แตงเปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาจากหลากหลายชาติ เนื่องจากราชวงศ์ต่างๆในยุโรปมีการสมรสข้ามประเทศกันอยู่เสมอ การสมรสเป็นเครื่องหมายของการสานสัมพันธไมตรีต่อกัน และได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิคและระบบทางการทหารของประเทศนั้นๆซึ่งกันและกันอยู่เนืองๆ

แต่เมื่อสงครามปะทุขึ้น เกิดข้อพิพาทอย่างหนักหน่วงว่าสถาบันนี้จะยังควรเปิดรับนักเรียนต่างชาติ กระทั่งชาติที่เป็นปรปักษ์ต่อกันอีกหรือไม่ ข้อพิพาทนี้เกิดขึ้นระหว่างสภาปาร์เลมองต์ และคณะบริหารสถาบันแซงต์มาร์แตง ซึ่งทางแซงต์มาร์แตงนั้นมีอำนาจต่อรองมากพอเสมือนกับเป็นอีกสภาหนึ่ง ฝ่ายปาร์เลมองต์เห็นว่าไม่ควร และควรอย่างยิ่งที่จะต้องรีบเชิญนักเรียนและบุคลากรต่างชาติที่ไม่ใช่ชาติพันธมิตรฝรั่งเศสออก เพื่อป้องกันความลับทางการทหารรั่วไหล ทว่าฝ่ายแซงต์มาร์แตงกลับชี้ว่าไม่ควร ด้วยว่าสมาชิกราชวงศ์ที่สมรสระหว่างประเทศหลายพระองค์นั้นยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ทั้งราชวงศ์ที่ยังศึกษาอยู่ในรั้วสถาบันแซงต์มาร์แตง นักเรียนต่างชาติก็เสมือนเป็นตัวแทนชาตินั้น การลอยแพนักเรียนและบุคลากรอาจทำให้เกิดความขุ่นเคืองคำรบสอง ตอกย้ำรอยแผลที่ถูกตราไว้จากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ อาจส่งผลถึงราชวงศ์ที่อาจเป็นอันตรายหรือถูกตัดขาดการติดต่อ ต่างฝ่ายต่างก็มีคนของตนเป็นประกัน และยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นคือสถานการณ์สงครามจะเลวร้ายลง ควรรักษาสถานภาพเป็นกลางดังที่เคยเป็นมาไม่ดีกว่าหรือ?

ด้วยเหตุนี้ นโยบายของแซงต์มาร์แตงจึงชนะการลงมติ แซงต์มาร์แตงยังคงรับนักเรียนต่างชาติอยู่ เพียงแต่อาจมีจำนวนน้อยลงกว่าเดิมเท่านั้น พื้นที่สถาบันจึงเป็นพื้นที่เป็นกลาง เขตปลอดสงคราม และยังคงความหลากหลายทางเชื้อชาติเอาไว้ได้ ประกอบกับได้มีการทำสนธิสัญญาสงบศึกชั่วคราวเอาไว้เพื่อรอดูความเคลื่อนไหวในอนาคต หากเป็นไปในทางที่ดีก็อาจสงบศึกถาวรได้

HISTORY TIMELINE

Sanctuaire Dynasty (ราชวงศ์ซ็องตูแอร์)

ย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ราชวงศ์ซ็องตูแอร์เถลิงราชย์เป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ผ่านการเห็นชอบจากศาสนจักรและปกครองมานานหลายชั่วอายุคน พาชาติฝรั่งเศสขึ้นสู่จุดรุ่งโรจน์ที่สุดในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการและสร้างคุณูปการให้แก่ประชาชนในสมัยหลังเรื่อยมา โดยเฉพาะในรัชสมัยของกษัตริย์อ็องรี-อาร์น็องด์ แห่งซ็องตูแอร์ (King Henri-Arnand of Sanctuaire,  King of the Liberals) ซ็องตูแอร์ได้ผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศรอบข้างทั้งผ่านข้อตกลงทางการเมือง และการสมรสของเหล่าราชนิกูล กล่าวได้ว่าหลายราชวงศ์ทั่วยุโรปเองต่างก็มีสายเลือดของซ็องตูแอร์อยู่สายใดสายหนึ่งอย่างแน่นอน กระทั่งคู่ปรับตลอดกาลอย่างราชวงศ์แห่งอังกฤษก็ตาม

ทว่าเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 กษัตริย์แห่งซ็องตูแอร์ในสมัยหลังเริ่มที่จะระเริงไปกับความมั่งคั่งยิ่งใหญ่ที่กษัตริย์พระองค์ก่อนๆได้สร้างไว้จนเริ่มละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ราชสำนักใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรูหรา แก้ปัญหาอย่างไร้ประสิทธิภาพ ปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานานนี้จึงกลายเป็นชนวนให้ประชาชนผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ยอมตกเป็นทาสให้ราชสำนักรีดเค้นภาษีจากตนเองอีกต่อไป ลุกฮือขึ้นก่อการจลาจลอันนำไปสู่การปฏิวัติในเวลาต่อมา

Downfall of the Sanctuaire (การล่มสลายของซ็องตูแอร์)

ค.ศ.1779 ในช่วงรัชสมัยของกษัตริย์อูโก-แอลฟ็องส์(King Hugo-Alphonse of Sanctuaire) ฝรั่งเศสสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการสนับสนุนชาวอาณานิคมอเมริกาให้ทำสงครามกับอังกฤษ จึงทำให้ราชสำนักต้องออกนโยบายรีดเร้นภาษีจากประชาชนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนรวมทั้งการกู้เงินจากต่างประเทศ กษัตริย์อูโกทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการต่างประเทศก็จริง หากแต่ทรงมองข้ามละเลยปัญหาภายในประเทศของตนเอง ช่องว่างระหว่างชนชั้นอภิสิทธิ์และชนชั้นสามัญชนยิ่งถูกแหวกให้ลึกเข้าขั้นเลวร้าย ซ้ำร้าย ในขณะที่ท้องพระคลังฝรั่งเศสกำลังเป็นหนี้ราชสำนักอื่นทั่วยุโรป วิธีการแก้ปัญหากลับเป็นแก้แบบขอไปที ด้วยการใช้จ่ายให้ฟุ่มเฟือยยิ่งกว่าเดิมเพิ่มสร้างเครดิตเพื่อที่จะได้ไปกู้จากท้องพระคลังอื่นเพิ่ม

ขุนนางสภาปาร์เลมองต์คัดค้านการเก็บภาษีเพิ่ม เนื่องด้วยสภาปาร์เลมองต์นั้นกึ่งหนึ่งเป็นขุนนางที่ถูกแต่งตั้งจากฐานันดรประชาชนนั่นเอง ขุนนางเหล่านี้เรียกร้องให้เกิดการประชุมสภาฐานันดร ซึ่งเป็นสภาที่ประกอบด้วยตัวแทนจากสามชนชั้น คือ ขุนนาง บาทหลวง และสามัญชน เพื่อหวังให้คะแนนเสียงที่มากที่สุดของสามัญชนนั้นปัดตกนโยบายเก็บภาษีเพิ่มทิ้งไป ทว่าเสียงของสามัญชนซึ่งคือประชาชนทั้งประเทศกับแพ้ให้กับพวกขุนนางและบาทหลวงหยิบมือเดียว ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาและแสดงความต้องการของตนได้ 

เริ่มเกิดการโจมตีการแทรกแซงกิจการต่างประเทศของกษัตริย์อูโกว่าเป็นการหวังน้ำบ่อหน้าที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง อเมริกาเมื่อได้อิสรภาพแล้วกลับตอบแทนฝรั่งเศสอย่างน้อยนิด ด้วยเหตุผลว่าประเทศกำลังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว ยังไม่สามารถตอบแทนได้ ฝรั่งเศสจึงไม่สามารถกอบโกยจากอเมริกาได้ในขณะนั้น หนทางหารายได้จึงมืดบอดไปเสียแล้วทางหนึ่ง อีกทั้งทำให้อังกฤษซึ่งไม่พอใจอย่างแรงกล้านั้นสบโอกาสหมายมั่นว่าจะซ้ำเติมฝรั่งเศสทุกทางอีกด้วย

ต้นเหตุอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นเหตุหลักให้ท้องพระคลังติดหนี้สินคือมเหสีของอูโก ราชินีคอนสแตนซ่า-มารีญา ฟลอเรนซีญา บาซิลิกา(Queen Constanza-Maria Florencia Basilica) จากราชวงศ์บาซิลิกาแห่งสเปน ในขณะนั้นประชาชนนอกรั้วพระราชวังรู้กันทั่วว่าพระนางใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยมาก มีงานเลี้ยงใหญ่โตทุกวัน ของเหลือแต่ละวันก็ไม่เคยตกถึงท้องประชาชนเลยสักนิด แต่นั่นก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว ความจริงคืองานเลี้ยงไม่ได้มีทุกวัน และไม่ได้ใช้เงินมากมายมหาศาลอย่างที่กล่าวกัน ราชินีคอนสแตนซ่าใช้วิธีการยืมตัวอย่างสินค้าจากขุนนางที่ค้าขายมาใช้ประดับประดาในงานเลี้ยง ใช้อาหารและเครื่องดื่มที่ลดคุณภาพลงแต่รสชาติและกลิ่นเหมือนเดิม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อ และลงบัญชีรายจ่ายไปในราคาที่ไม่เป็นจริง ทำราวกับว่าพระนางเสียเงินจ่ายไปกับงานเลี้ยงเหล่านี้

ความจริงแล้วคอนสแตนซ่าแอบยักยอกท้องพระคลังฝรั่งเศสเพื่อส่งกลับไปที่ราชสำนักสเปน ให้ดูเหมือนกับว่าเป็นทรัพย์สมบัติของสเปนเอง ก่อนจะปล่อยให้ฝรั่งเศสมากู้เงินจากสเปนไปอีกทีทั้งที่ก็เป็นเงินฝรั่งเศสเองมาแต่ต้น และดอกเบี้ยที่ได้จากการกู้นั้น นางได้มอบให้กับราชสำนักอังกฤษเพื่อเป็นทุนรอนในการทำสงครามอาณานิคม ราชินีคอนสแตนซ่านั้นแอบมีใจปฏิพัทธ์กับเจ้าชายเอเซเคียลจากราชวงส์ลีแอนดาเรียนแห่งอังกฤษ (Prince Ezekiel Leandarian of Britain) มาตั้งแต่สมัยที่พระนางยังคงดำรงยศเจ้าหญิงแห่งสเปน และได้สัญญาเป็นมั่นเหมาะเอาไว้ว่า นางจะช่วยเหลือเจ้าชายเอเซเคียลในทุกหนทาง เอเซเคียลก็ได้สัญญากับคอนสแตนซ่าไว้ว่า หากฝรั่งเศสถึงคราวล่มจม ให้นางหย่ากับอูโกเสีย และเขาจะรับนางเป็นราชินีแห่งอังกฤษต่อเอง

เคราะห์ร้าย แผนการนี้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เสนาบดีของกษัตริย์อูโกเกิดสืบจนรู้เรื่องราวเบื้องหลังเสียก่อน คอนสแตนซ่าจึงถูกจับและได้รับโทษประหารชีวิตในที่สุด แต่กว่าเรื่องราวจะแดงขึ้น ฝรั่งเศสก็ขาดทุนไปมากมายเสียแล้ว

Ashen Route Revolution (เหตุปฏิวัติมรรคาธุลี)

ราชินีคอนสแตนซ่าถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน ณ ลานหน้ามหาวิหารนอเทรอดาม คะแนนนิยมในตัวกษัตริย์อูโกเพิ่มขึ้นมาในระดับหนึ่ง ณ ขณะนั้น แต่เมื่อศีรษะผู้เป็นราชินีถูกตัดแล้ว ปัญหาท้องพระคลังกลับยังไม่ถูกแก้ไข เงินก็ยังคงไหลเวียนอยู่เฉพาะชนชั้นอภิสิทธิ์ตามเดิม กลับยิ่งได้รับเงินมากกว่าแต่ก่อนเสียด้วยซ้ำทั้งที่ประชาชนยังคงอดอยากอยู่ การประหารราชินีกลับกลายเป็นพิษย้อนเข้าตัวว่าอูโกแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ฆ่าคนไปเสียหนึ่งคนแต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย ผนวกกับเรื่องความขัดแย้งในสภาเมื่อครั้งก่อนอีกอย่างหนึ่ง 

ประชาชนผู้ถูกบีบคั้นทุกทางทำการปลุกระดมลุกฮือขึ้นก่อการประท้วง การประท้วงครั้งแรกถูกปราบลงได้ แต่ก็ไม่ทำให้สลายตัวไปอย่างสิ้นเชิง และขุนนางสภาปาร์เลมองต์รวมทั้งนักบวชสมณศักดิ์สูงที่ไม่เห็นด้วยต่างก็ย้ายข้างไปเข้าฝั่งประชาชน กษัตริย์อูโกเกิดความหวาดกลัวต่อประชาชน จึงเรียกระดมกองทหารจำนวน 20,000 นายจากแคว้นต่างๆทั่วฝรั่งเศส และทหารรับจ้างชาวเยอรมัน-สวิสมาประจำการ ณ พระราชวังแวร์ซาย ใช้กองทัพเข้าควบคุมฝูงชน จับตัวผู้แทนสภาปาร์เลมองต์หลายคนไปสำเร็จโทษด้วยกิโยติน ควบคุมสภาและออกคำสั่งยกเลิกอภิสิทธิ์อีกหลายอย่างของชนชั้นสูงเพื่อรวมอำนาจไว้ที่กษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียว 

ทว่าทุกอย่างกลับส่งผลให้การประท้วงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ฝูงชนมารวมตัวกันกว่าหมื่นคน ณ แวร์ซาย ผู้นำการประท้วงได้ปลุกระดมให้ฝูงชนจับอาวุธขึ้นมา เดินขบวนจนปะทะกับกองทหารหลวง จนในที่สุดประชาชนก็เข้าปะทะกับกองทหารทั่วทั้งปารีส ถนนทุกสายอาบด้วยเลือดประชาชนผู้รักชาติ บ้านเรือนถูกทุบทำลาย กองเป็นกำแพงและเผาเพื่อสกัดทางไม่ให้กองทหารรุกคืบ เหตุการณ์ทวีความรุนแรงกระทั่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างโบสถ์วิหารนั้นยังมีกองทหารบุกเข้าไปกราดยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้มตายด้วยกระสุนจากภาษีประชาชนเป็นจำนวนมาก กว่าการประท้วงนี้จะจบลง กว่าครึ่งของปารีสกลายเป็นเถ้าถ่าน เลือดเนื้อประชาชนเผาไหม้ปนเปกับกระสุนและดินปืน อาบจนถนนทุกสายเต็มไปด้วยฝุ่นธุลีคละคลุ้งนานหลายวันกว่าจะดับลง จึงถูกขนานนามว่า “การปฏิวัติมรรคาธุลี”

กษัตริย์อูโกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แก้พลังประชาชน ได้เตรียมจะหลบหนีออกนอกปารีส เช่นเดียวกับที่ขุนนางคนอื่นๆที่อยู่ข้างเดียวกับพระองค์นั้นได้ไหวตัวหลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนแล้ว ทว่าโชคร้าย ฝูงชนที่โกรธเกรี้ยวถึงขีดสุดได้บุกฝ่ากองทหารเข้ามายังพระราชวัง ลากตัวอูโกไป ณ ลานหน้านอเทรอดาม สถานที่เดียวกับที่ราชินีคอนสแตนซ่าถูกประหาร และถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินโดยไม่ผ่านศาลหรือกระบวนการใดๆ ณ ที่แห่งนั้นทันที และคุมขังพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆเอาไว้เพื่อรอการตัดสิน ระหว่างนั้นฝ่ายปฏิวัติก็ได้จัดตั้งรัฐบาลตนเองขึ้น

Wars of the Coalition (สงครามแนวร่วมประสานมิตร)

เมื่อสิ้นราชวงศ์แล้ว รัฐบาลฝ่ายปฏิวัติกลับปกครองฝรั่งเศสด้วยการข่มขู่ประชาชนให้หวาดกลัว ลิดรอนสิทธิและกระทำการอุกอาจมากมายต่อทุกชนชั้นตั้งแต่ขุนนาง บาทหลวง ไปจนประชาชน  ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่าจะให้ความสงบและความเท่าเทียม 

ทางขุนนางฝ่ายรอยัลลิสต์ที่หลบหนีออกนอกประเทศไปนั้นได้เจรจาตกลงกับราชสำนักประเทศต่างๆให้ก่อสงครามกับฝรั่งเศส โดยชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติอาจส่งผลต่อความคิดของประชาชนในประเทศอื่นๆที่ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติตามก็เป็นได้ อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์จากราชสำนักอื่นๆที่สมรสกับซ็องตูแอร์ก็ถูกจับกุมไว้เช่นกัน จึงเห็นว่าควรสนับสนุนฝ่ายรอยัลลิสต์ สลายรัฐบาลปฏิวัติและคืนอำนาจให้ราชวงศ์เสีย จึงได้เริ่มนำกองทัพบุกปารีส โดยมีปรัสเซียนำโดยดยุแห่งบรุนช์วิคนำทัพ

ปรัสเซียนำโดยดยุคแห่งบรุนชวิคเริ่มนำกองทัพบุกปารีสก่อน ทำให้รัฐบาลฝ่ายปฏิวัติและประชาชนฝรั่งเศสไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงนำตัวพระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกจับกุมอยู่ในคุกมาประหารด้วยกิโยตินเสียให้หมด ด้วยคิดว่ามีราชวงศ์คนใดคนหนึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เคราะห์ร้ายตกอยู่กับเจ้าหญิงเอมเมลีน เอ็ดวิน่า เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ลอยช์เทินวาลด์แห่งปรัสเซีย (Princess Emmeline Edwina of Leuchtenwald) ผู้สมรสกับพระอนุชาของกษัตริย์อูโก-แอลฟ็องส์ ตกเป็นแพะรับบาปถูกกล่าวหาว่าชักใยในการทำให้ทัพปรัสเซียบุกล้อมปารีส 

เมื่ออีกหนึ่งชีวิตที่สังเวยให้คมมีดเป็นเจ้าหญิงชาวปรัสเซีย ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น พระญาติองค์อื่นๆจากประเทศอื่นๆอย่างออสเตรียและรัสเซียเองก็ตกเป็นเหยื่อไปด้วยเช่นกัน ชาติยุโรปต่างๆเห็นความอวดดีของรัฐบาลปฏิวัติแล้วต่างก็ไม่นิ่งเฉย ร่วมมือกันจัดตั้งแนวร่วมสัมพันธมิตรเข้ารุกรานฝรั่งเศส จุดเริ่มต้นของสงครามที่จะยืดเยื้อไปอีกหลายสิบปี

 

Aurélien Dynasty (ราชวงศ์ออเรเลียง)

ฝรั่งเศสเข้าสู่สภาวะสงคราม นานาประเทศต่างยกทัพมาจากทั่วสารทิศ ทัพฝรั่งเศสยังคงต่อต้านขับไล่ทัพต่างชาติออกไปได้ แต่ทว่าการเมืองภายในยังคงเละเทะไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งที่ประเทศชาติต้องการจึงเป็นผู้นำที่สามารถจะนำทั้งประชาชนและกองทัพได้อย่างเข้มแข็ง

“เอมมานูแอล-เออร์คูเล เดอ ออเรเลียง(Emmanuel-Hercule de Aurelien)” นายพลหนุ่มจากแคว้นออร์เลอ็องส์ เป็นวีรบุรุษผู้สร้างชื่อขึ้นมาท่ามกลางความวุ่นวายของการปฏิวัติและสงคราม เดิมมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง แต่เมื่อเข้ามาเป็นทหาร ณ ปารีสแล้วก็ได้สร้างผลงานมากมาย เป็นที่ชื่นชอบของรัฐบาลปฏิวัติและที่เทิดทูนของประชาชน เป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจชั้นดี รัฐบาลได้ส่งเอมมานูแอลออกไปรับศึกทั้งเหนือใต้และไม่เคยผิดหวังเลยสักครั้ง แต่ใครจะรู้ว่าเอมมานูแอลมองการณ์ไกลมากกว่าการเป็นนายพลมาก 

ในขณะที่รัฐบาลปฏิวัติกำลังปั่นบ้านเมืองให้วุ่นวายอีกครั้งเพื่อยึดอำนาจอีกรอบ ฝ่ายเอมมานูแอลทำการล็อบบี้ขุนนางฐานันดรสูงตระกูลตาแลร็อง(House Talleyrand) ซึ่งเป็นตระกูลที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่ามีจุดยืนอยู่ฝั่งใดกันแน่ และรอดพ้นจากการกวาดล้างพวกหัวกลางได้อย่างไร และตระกูลลาฟาแยตต์(House Lafayette) ตระกูลเก่าแก่ที่ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่โรม เพื่อให้ได้เจรจากับสันตะสำนัก ภายในเวลาไม่นาน หลากตระกูลขุนนางที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติก็เข้ามาหนุนหลังเอมมานูแอล อีกทั้งตัวเขาหว่านล้อมรัฐบาลจนสามารถออกกฏอัยการศึกให้ตนเองสามารถจัดการกับความไม่สงบได้ตามสมควร

ตระกูลตาแลร็องตามหาตัวทายาทสายตรงของซ็องตูแอร์ที่ยังเหลือรอด เจ้าหญิงอาดีเลด ลูเซ็ตต์ แห่งซ็องตูแอร์ (Princess Adelaide Lucette of Sanctuaire) พร้อมพระขนิษฐาและพระอนุชาอีก2พระองค์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ตาแลร็องจัดการให้ได้สมรสกับเอมมานูแอลเพื่อรวมอำนาจให้เหนียวแน่นขึ้น เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตรงนี้ ฝ่ายปฏิวัติเริ่มระแคะระคายอะไรบางอย่าง ตั้งใจจะจับตัวเอมมานูแอลมาสอบสวน แต่ด้วยพันธมิตรทั้งหมดที่เอมมานูแอลมีหนุนหลัง ฝ่ายปฏิวัติจึงเป็นฝ่ายถูกทหารของเอมมานูแอลจับกุมแทนด้วยอำนาจกฏอัยการศึก เพื่อให้พวกเขาได้รับการตอบแทนกับสิ่งที่ได้ทำกับประชาชนและประเทศชาติ

Great Agreement Phenomenon (ปรากฏการณ์พ้องดุษนี)

รัฐบาลปฏิวัติถูกจับกุมมายังสถานที่ที่พวกเขาเคยทำการประหารชีวิตราชวงศ์และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ประชาชนผู้โกรธเกรี้ยวมาชุมนุมกันด้วยความหวังที่จะเห็นคนที่กดขี่ ข่มขู่ ขายฝันให้พวกเขามานานปีได้รับโทษสถานตายเช่นเดียวกัน ผู้คนกล่าวชื่นชมเอมมานูแอลยิ่งขึ้นที่ไม่ตกเป็นทาสของพวกปฏิวัติ แต่ยืนหยัดเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง หลายคนกู่ตะโกน ‘โลหิตคนบาปจงหลั่งเพื่อชำระถ่านธุลี’ 

ทว่า ขณะที่หัวหน้าคณะปฏิวัติเดินขึ้นไปยังแท่นประหาร เอมมานูแอลที่อยู่ ณ ที่นั้น กลับไม่สั่งให้สับกิโยติน เขาเดินออกมาหน้าแท่นประหาร และขอให้ประชาชนทั้งหลายที่มาชุมนุม ณ ที่นั้นไตร่ตรองการประหารครั้งนี้ดูอีกครั้ง 

“ประชาชนแห่งปารีสทั้งหลายที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นี้ เราได้มอบคนเหล่านี้ไว้ในในความไตร่ตรองของพวกท่าน ฝรั่งเศสเป็นชาติแห่งศิลป์ ปัญญาแลศรัทธา หาใช่แท่นประหารแลถ่านธุลี หากเลือกวางพวกเขาเหล่านี้ไว้ในฝ่ามือมัจจุราช ท่านจะแตกต่างจากพวกเขาอย่างไร มารดาแลภรรยาผู้บริสุทธิ์ของพวกเขาจะโกรธแค้นไม่ต่างจากพวกท่าน แลลูกหลานพวกเขาจะหวนกลับมายังลานประหารแห่งนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่หากท่านมอบพวกเขาไว้ในฝ่ามือของพระผู้เป็นเจ้าผู้เมตตา ผู้มอบปัญญาแลเมตตาสถิตไว้ในดวงใจลูกหลานของพระองค์ เช่นนั้นแล้ว ขอสันติจงมีแต่ฝรั่งเศสตลอดกาล”

คำประกาศแห่งนอเทรอดาม | Declaration of Notre Dame

เอมมานูแอลขอให้ทุกคน ณ ที่นั้น ชูมือขวาของตนออกมา หากเห็นชอบให้ประหาร จงคว่ำนิ้วโป้งลง แล้วศีรษะคนเหล่านี้จะขาดออกจากคอทันที แต่หากเมตตา จงชูนิ้วโป้งขึ้น พวกเขาจะไม่ตาย แต่จะได้รับโทษอื่นที่สมควร แต่โทษนั้นจะมีมนุษยธรรมกว่า

ความเงียบปกคลุมทั่วทั้งลาน จนในที่สุด กลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นปัญญาชนเริ่มชูนิ้วโป้งขึ้นก่อน ตามด้วยประชาชนชนชั้นอื่นๆ สุดท้ายคือกลุ่มขุนนางที่มาดูการประหาร ขุนนางบางคนไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่มีใครชูนิ้วโป้งลงอย่างโจ่งแจ้ง พวกเขาเลือกที่จะไม่ชูมือใดๆเลย

 

คณะปฏิวัติจึงรอดชีวิตจากแท่นประหารไปรับโทษใช้แรงงานที่เกาะอาณานิคมฝรั่งเศสในมหาสมุทรห่างไกลพร้อมครอบครอบครัวและไม่เคยได้กลับมาอีกเลย ส่วนเอมมานูแอลนั้นยิ่งได้ความนิยมจากประชาชนเป็นทวีคูณ ได้รับความไว้วางใจจากขุนนางอื่นๆมากขึ้นกว่าแต่ก่อน การเสนอทางเลือกครั้งนี้กลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ในฝรั่งเศส เมื่อมีการตกลงออกเสียงครั้งใดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ผู้คนจะตัดสินด้วยการคว่ำมือและชูมือเช่นเดียวกับเหตุการณ์นี้

Rise of The Aurelien (การปราบดาภิเษกของออเรเลียง)

ความโกลาหลภายในชาติได้รับการบรรเทา ทว่ายังคงระส่ำระส่ายจากสงครามรอบทิศ ประชาชนกำลังต้องการผู้นำที่จะพาชาติผ่านพ้นวิกฤติ ยืนหยัดต่อสู้ได้ และชาติฝรั่งเศสยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง 

เอมมานูแอลจึงปราบดาภิเษกตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส(Emperor Emmanuel of Aurelien) แต่งตั้งเจ้าหญิงอาดีเลดผู้เป็นคู่สมรสขึ้นเป็นจักรพรรดินี(Empress Adelaide of Aurelien) มีประชาชนไม่น้อยที่เกิดคำถามกับการปราบดาภิเษก แต่ขณะนั้นฝรั่งเศสกำลังได้รับชัยชนะเหนือศัตรูหลายชาติ แผ่ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง ฝรั่งเศสจึงเริ่มกลับมาร่ำรวย ระบบเศรษฐกิจพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ความเห็นของสาธารณะต่อการปกครองโดยจักรพรรดิจึงออกไปในทางที่ดี

แต่ใช่ว่าจะไม่มีคนเห็นต่างเลย กลุ่มขุนนางและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยก็ได้รวมกลุ่มกันก่อการจลาจลขึ้นอีกครั้งในคืนก่อนวันพิธีปราบดาภิเษกซึ่งจะจัดขึ้น ณ มหาวิหารนอเทรอดาม กลุ่มจลาจลกลุ่มนี้หวังจะทำลายพิธีและยึดสถานที่ ได้มีการยึดมงกุฏ Crown of Triumph ออกไปจากนอเทรอดาม มงกุฏที่เอมมานูแอลสั่งให้ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นมงกุฏประจำรัชกาล แต่ก็ได้มีการคาดการณ์อยู่ก่อนหน้าแล้วว่าอาจมีเหตุไม่สงบเกิดขึ้น ทหารทำการล้อมจับคนกลุ่มนี้กลับไปรับโทษได้ในที่สุด เหลือแต่เพียงมงกุฏที่ถูกนำออกไป แต่ก็นำกลับมาได้ทันตอนพิธีกำลังจะเริ่มพอดิบพอดี

จักรพรรดิเอมมานูแอลสถาปนาราชวงศ์ออเรเลียงขึ้น ยกฐานะพี่น้องของตนทั้งหมดขึ้นเป็นราชนิกูล ทางด้านราชวงศ์ซ็องตูแอร์ของจักรพรรดินีอาดีเลดก็ได้รับสิทธิ์เดิมโดยชอบธรรมกลับมาในฐานะตระกูลซ็องตูแอร์ อันได้แก่ที่ดิน ทรัพย์สิน และแคว้นในปกครองเดิม ส่วน2ตระกูลใหญ่ที่มีส่วนในการปราบดิภิเษกอย่างตาแลร็องและลาฟาแยตต์ก็ได้รับสิ่งที่สมควรได้รับ ผู้นำตระกูลตาแลร็องได้สมรสกับเจ้าหญิงคลีเมนไทน์ ขนิษฐาในจักรพรรดิเอมมานูแอล และบุตรชายคนโตของตระกูลลาฟาแยตต์ได้สมรสกับดัชเชสมาเกอริตต์ ขนิษฐาในจักรพรรดินีอาดีเลด ยกฐานะทั้งสองตระกูลขึ้นมาเป็นราชนิกูล

Rose Window Assassination (เหตุลอบสังหารบัญชรกุหลาบ)

coming  soon

Day of Gunfire (วันแห่งดงกระสุน)

coming  soon

Treaty of Avignon (สนธิสัญญาอาวีญง)

ประมาณ5ปีก่อน จักรพรรดิมีความคิดที่จะจบสงครามให้ได้โดยเร็วแต่ขณะนั้นมองไม่เห็นหนทาง จึงมีแต่ต้องรุกคืบไปข้างหน้าเท่านั้น หลังสงครามยืดเยื้อมานานหลายปี หลายชาติเริ่มตระหนักว่าตนกำลังเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เสียดินแดนละทรัพยากรมากมาย บางชาติถูกดึงเข้ามาในสงครามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับตนเองโดยตรง เหล่าผู้ปกครองชาติยุโรปจึงจัดคณะทูตเข้ามาเจรจาสงบศึกชั่วคราว รายละเอียดของการเจรจาประกอบไปด้วยหลายประเด็นและใช้เวลานาน แต่ในที่สุด จักรวรรดิฝรั่งเศสก็ยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกที่อาวีญง ได้รับดินแดนเพิ่มเติมเป็นการแลกเปลี่ยน และทุกฝ่ายยอมรับข้อตกลงร่วมกันว่า หากมีชาติใดก่อเหตุอันเป็นชนวนสงครามขึ้นมาอีก ฝรั่งเศสจะถือว่าสนธิสัญญานี้เป็นโมฆะทันที สงครามจึงเข้าสู่ความสงบชั่วคราวมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว แม้รู้ว่าพร้อมจะปะทุขึ้นมาได้อีกก็ตามที

© 2023 by INKFEST San Francisco's Tattoo Convention. Proudly created with Wix.com

bottom of page